ประวัติศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา
"แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า
การดำเนินโครงการ
  ข้อมูลนักเรียน
  ผลการดำเนินโครงการ

ประวัติศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า

หมู่ที่ ๑๐ ตำบลยางเปียง อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
เริ่มก่อตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๕ เดิมใช้ชื่อว่า ศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขาบ้านหลักป่าข่า เริ่มต้นจากโครงการอนุรักษ์สภาพป่าในพื้นที่อำเภออมก๋อย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยนายอำเภออมก๋อย และศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดเชียงใหม่ ได้คัดเลือกหมู่บ้านหลังป่าข่าเป็นศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนในเขตภูเขา โดยสร้างอาคารเรียนกึ่งถาวร เพื่อใช้ในการเรียนการสอนตลอด ต่อมาในเดือนตุลาคม ๒๕๔๓ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำการออกค่ายเพื่อสร้างอาคารเอนกประสงค์ เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมชองหมู่บ้าน และจัดการเรียนการสอนเพิ่มอีก ๑ หลัง ซึ่งใช้ร่วมกันกับอาคารเดิมจนถึงปัจจุบัน

ข้อมูลนักเรียน
กิจกรรมด้านการเรียนการสอน จำนวนผู้เรียนมีทั้งหมด ๘๙ คน ดังนี้
ผลสัมฤทธิ์ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านหลังป่าข่า มีดังนี้
๑. หลักสูตรการศึกษาผู้ใหญ่แบบเบ็ดเสร็จขั้นพื้นฐาน จำนวน ๑๖ คน สามารถอ่านออกเขียนได้ ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
๒. หลักสูตรการศึกษาสายสามัญวิธีเรียนทางไกล ระดับประถมศึกษา จำนวน ๕ คน กำลังศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน ๓ คน สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้ดี จัดที่อ่านหนังสือ เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของชาวบ้านและเด็กนักเรียน จำนวน ๑ แห่ง โดยได้รับวารสารเดือนละ ๕ เล่ม ได้แก่ วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน ๑ เล่ม วารสารเกษตรพัฒนา ๑ เล่ม วารสารสยามรัฐ ๑ เล่ม วารสารเส้นทางเศรษฐี ๒ เล่ม เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๒ ทำให้ประชาชนและนักเรียนได้มีหนังสืออ่านเสริมความรู้
สภาพการรู้หนังสือ
๑. เด็กรู้หนังสือ อ่านออก เขียนได้ จำนวน ๓๔ คน จากทั้งหมด ๙๗ คน
๒. ผู้ใหญ่ อ่านออก เขียนได้ จำนวน ๓๔ คน จากทั้งหมด ๑๑๙ คน พูดภาษาไทยได้ จำนวน ๙๙ คน พูดไม่ได้ ๒๐ คน
๓. โรงเรียนประถมศึกษาที่อยู่ใกล้ คือ โรงเรียนบ้านสบลาน มีระยะทางจาก ศศช. ๑๐ ก.ม.ไม่มีนักเรียน ศศช. ไปเรียน
๔. มีนักเรียนใน ศศช.ไปเรียนชุมชนบ้านอมก๋อย ๑ คน ห่างจากบ้านหลังป่าข่า ๒๕ ก.ม. พักหอพักคริสตจักร
การดำเนินโครงการ
กิจกรรมการจัดอาหารกลางวัน
เพื่อลดปัญหาเด็กในหมู่บ้านที่ขาดสารอาหารและส่งเสริมสุขภาพอนามัยผู้เรียน อีกทั้งยังสามารถจัดการเรียนการสอนจากขั้นตอนการประกอบอาหารเป็นการเสริมทักษะให้กับผู้เรียน
แนวทางการดำเนินงาน
ได้รับงบประมาณจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจฯ เป็นเวลา ๑๐ เดือน (มิถุนายน ๒๕๔๒ - มีนาคม ๒๕๔๓) เดือนละ ๖,๖๐๐ บาท นักเรียนที่ได้รับงบประมาณ ๕๕ คน และได้รับงบประมาณจากกระทรวงศึกษาธิการ เป็นเวลา ๖ เดือน (กรกฎาคม - ธันวาคม ๒๕๔๓) เดือนละ ๕,๔๔๔ บาท นักเรียนที่ได้รับงบประมาณ ๔๒ คน ดำเนินการจัดซื้อและจัดทำโดยคณะกรรมการที่จัดตั้งจากชาวบ้าน มีครูเป็นที่ปรึกษา

ผลการดำเนินโครงการ
เด็กนักเรียนในหมู่บ้าน จำนวน ๗๑ คน มีอาหารกลางวันรับประทาน บางคนนำน้องมารับประทานอาหารกลางวันด้วย มีการติดตามภาวะการเจริญเติบโตเป็นรายบุคคล ปรากฎว่าเด็กมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากเดิม ประมาณ ๐.๕ - ๑ กิโลกรัม
ปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงาน
ด้วยสภาพพื้นที่ทุรกันดาร ทำให้การขนส่งวัสดุประกอบอาหารเกิดความเสียหาย และบางครั้งเกิดความล่าช้า โดยการขนส่งส่วนใหญ่อาศัยไปกับรถของชาวบ้านที่สัญจรไปมา

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. (๒๑๒)