ประวัติโรงเรียนบ้านห้วยลึกระบบการศึกษา
โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันรายการสิ่งของพระราชทาน

ประวัติโรงเรียนบ้านห้วยลึก

ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยลึก หมู่ที่ ๒ บ้านห้วยลึก ตำบลบ่อเกลือเหนือ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๕ มีครูอาสาสมัครมาสอนหนังสือหลักสูตรระยะสั้นเวลา ๖ เดือน ให้ชาวบ้านได้รู้หนังสือ เด็กๆ ต้องเดินไปเรียนที่บ้านสะไลซึ่งมีระยะทางไกล ต่อมาเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๖ จึงได้ก่อตั้งศูนย์การศึกษาเพื่อชุมชนชาวไทยภูเขา บ้านห้วยลึก ขึ้น
ปี พ.ศ.๒๕๔๐ จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยลึก จนถึงปัจจุบัน

สภาพทั่วไปของหมู่บ้าน
ก่อตั้งมาประมาณ ๒๐ ปี โดยชาวบ้านได้ย้ายถิ่นฐานมาจากบ้านสะเกี้ยง ตำบลขุนน่าน เพื่อที่จะทำไร่ โดยครั้งแรกย้ายมา ๓ - ๕ หลังคาเรือน ต่อมาก็ย้ายเข้ามาก่อตั้งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นหมู่บ้านเล็กๆ เป็นบ้านบริวารของบ้านสะไล มีผู้ใหญ่บ้านอยู่ที่บ้านสะไลหลวง สภาพพื้นที่ของบ้านห้วยลึกมีที่ราบน้อยมากส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ตั้งอยู่ในหุบเขา

การคมนาคม
ระยะทางจากอำเภอบ่อเกลือถึงบ้านนากึ๋นเป็นถนนลาดยาง ประมาณ ๒๒.๕ กิโลเมตร อีก ๔ กิโลเมตร เป็นถนนลูกรังปนดิน หน้าฝนรถยนต์ขึ้นไม่ได้ต้องเดินเท้า ๑ ชั่วโมง

จำนวนประชากร
บ้านห้วยลึกมีประชากรทั้งสิ้น ๒๒๐ คน เป็นชาย ๑๐๕ คน หญิง ๑๑๕ คน

การประกอบอาชีพ/รายได้เฉลี่ย
ประชากรประกอบอาชีพ ทำไร่ข้าว, ข้าวโพด และหาของป่าขาย เช่น ดอกก๋ง, หวาย, ปอสา ฯลฯ มีรายได้เฉลี่ยครอบครัวละ ๒,๐๐๐ บาท/ปี

ผู้นำหมู่บ้าน
กำนัน นายประเสริฐ ขันหลวง
ผู้ใหญ่บ้าน นายทอง บัวเหล็ก

ปัญหาของหมู่บ้านที่ต้องการพัฒนา
- เป็นหมู่บ้านเอกเทศ
- แก้ไขปัญหาความยากจน (ข้าวไม่พอกิน)
- ถนน
- ไฟฟ้า

ระบบการศึกษา
ศูนย์การเรียนชุมชุนชาวไทยภูเขา "แม่ฟ้าหลวง" บ้านห้วยลึก สังกัดศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ่อเกลือ ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดน่าน ทำการสอนตลอดปี
เปิดทำการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ ๒๕๓๖ โดยรับเด็กจากหมู่บ้านห้วยลึก

อาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก
ทางโรงเรียนมีอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ดังนี้

อาคารสถานที่
ผู้ให้การสนับสนุน
๑. อาคารเรียน คณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และราษฎรในพื้นที่
การประถมศึกษาแห่งชาติ
๒. เสาธง คุณเฉลิมชัย ตามะทะ และผู้ใหญ่ลัย ปันอิน
๓. ร้านค้าหมู่บ้าน ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอบ่อเกลือ และราษฎรในพื้นที่
๔. ระบบประปาในศูนย์ฯ โครงการพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และราษฎรในพื้นที่

จำนวนครูและนักเรียน
เมื่อเริ่มก่อตั้ง มีนักเรียน ๒๔ คน มีครู ๑ คน
ปัจจุบัน (ปีการศึกษา ๒๕๔๑) มีนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น อายุอยู่ในเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ จำนวน ๘๕ คน เป็นชาย ๔๑ คน หญิง ๔๔ คน
นักศึกษาผู้ใหญ่ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น อายุพ้นเกณฑ์การศึกษาภาคบังคับ จำนวน ๒๑ คน เป็นชาย ๑๓ คน หญิง ๘ คน มีครู ๒ คน คือ
๑. นางสาวภัชรินทร์ หน่อแก้ว วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง
๒. นางสาวพัฒนา เทียมตา วุฒิปริญญาตรี

การศึกษาต่อของนักเรียนและการประกอบอาชีพของนักเรียน
ปีการศึกษา ๒๕๔๐ มีนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ แล้วศึกษาต่อ จำนวน ๖ คน และประกอบอาชีพ จำนวน ๕ คน

โครงการตามพระราชดำริที่โรงเรียนดำเนินการอยู่
เพื่อเป็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สมเด็จพระเทพรัตราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริขึ้น ในโรงเรียนต่างๆ ในโครงการตามพระราชดำริ ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) ดังต่อไปนี้

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
ครูผู้รับผิดชอบ คือ นางสาวภัชรินทร์ หน่อแก้ว
ผู้ดำเนินงานโครงการฯ คือ ชาวบ้าน นักเรียน และครู
หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ
แหล่งน้ำใช้ในการเกษตร ประปาภูเขา และลำห้วย
แหล่งน้ำสำหรับดื่ม ประปาภูเขา และลำห้วย
ปัจจุบันมีการประกอบเลี้ยง ๓ ครั้ง/สัปดาห์
ผู้ประกอบเลี้ยง คือ แม่บ้าน, นักเรียน และครู
โรงเรียนได้รับการสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยได้รับในอัตรา ๕ บาท/คน/วัน และได้รับอาหารเสริมปีการศึกษา๒๕๔๑ ดังนี้
๑. นมผง จากสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ จำนวน ๕๐ กิโลกรัม
๒. แป้งถั่วเหลือง จากสำนักงานโครงการส่วนพระองค์ฯ จำนวน ๒๕ กิโลกรัม

การให้อาหารเสริม มีการดำเนินการ
๑. นมผง ให้นักเรียนทั้งหมดดื่มวันจันทร์, พุธ และศุกร์
๒. แป้งถั่วเหลือง ให้นักเรียนทั้งหมดดื่มวันอังคาร และพฤหัสบดี
อัตราการมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ของเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น มีนักเรียนทั้งหมด ๗๐ คน นักเรียนที่มารับการตรวจ ๖๔ คน นักเรียนผิดปกติ ๒๒ คน นักเรียนที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ๔๒ คน คิดเป็นนักเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ ๖๗.๑ ผลการประเมินปรับปรุง

รายการสิ่งของพระราชทาน
ปีการศึกษา ๒๕๓๙
แป้งถั่วเหลือง ๒ งวด จำนวน ๕๐ กิโลกรัม
น้ำตาลทราย ๒ งวด จำนวน ๕๐ กิโลกรัม
เมล็ดพันธุ์ผัก ๒ งวด จำนวน ๒ ชุด

ปีการศึกษา ๒๕๔๐
แป้งถั่วเหลือง ๓ งวด จำนวน ๖๕ กิโลกรัม
น้ำตาลทราย ๓ งวด จำนวน ๖๕ กิโลกรัม
นมผง ๒ งวด จำนวน ๑๐๐ กิโลกรัม
เมล็ดพันธุ์ผัก ๒ งวด จำนวน ๒ ชุด

ปีการศึกษา ๒๕๔๑
แป้งถั่วเหลือง ๑ งวด จำนวน ๒๕ กิโลกรัม
น้ำตาลทราย ๑ งวด จำนวน ๒๕ กิโลกรัม
นมผง ๑ งวด จำนวน ๕๐ กิโลกรัม
เมล็ดพันธุ์ผัก ๑ งวด จำนวน ๑ ชุด

แหล่งอ้างอิง : สำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ
สยามบรมราชกุมารี. (๖๐)
สำนักงาน, [๒๕__]