บ้านเจดีย์ทอง หมู่ที่ ๓ ตำบลปอ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย
เริ่มแรกก่อนจัดตั้งโรงเรียนมีประวัติความเป็นมาพอสรุปได้ว่า ชาวบ้านได้จัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น โดยชุดรัศมีที่ ๘๘ บ้านหนองเตา ตำบลปอ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย
ปี พ.ศ.๒๕๑๒ เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ชุดรัศมีที่ ๘๘ และชาวบ้านหนองเตาเผ่าเย้าเห็นว่าหมู่บ้านอยู่ในสถานการณ์ไม่ปลอดภัยจากผู้ก่อการร้าย ซึ่งมีการแทรกซึมอยู่ทั่วๆ ไป
จึงได้อพยพชาวบ้านจากหมู่บ้านหนองเตา จำนวน ๒๗ หลังคาเรือน ไปอยู่ที่แห่งใหม่ซึ่งปลอดภัยกว่า และตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า บ้านดอนเจดีย์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงเรียนในปัจจุบัน
สำหรับที่ดินจัดสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชนัตถ์ปิยะอุย เป็นที่ดินที่ไม่มีผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ จึงได้แผ้วถางปลูกสร้างอาคารเรียน
และนายจ้อยเซ็น แซ่ฟุ้ง ได้บริจาคที่ดินให้อีก จำนวน ๓ ไร่ โดยมี พันตำรวจโท สมาน เพิ่มวารี ตำแหน่ง ผบ.ร้อย ๓ ตชด. อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เป็นผู้รับมอบ
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาเอกเทศ
จากนั้นไม่นานหลังจากสร้างโรงเรียนแล้วเสร็จพวกเย้าที่อพยพดังกล่าวเห็นว่า บ้านเมืองสงบเรียบร้อยแล้ว ประกอบกับมีที่ดินทำกินอยู่ที่หมู่บ้านหนองเตา จึงได้ย้ายกลับถิ่นฐานเดิม
หลังจากนั้นชาวเขาเผ่าม้ง จากที่ต่างๆ จึงได้ย้ายมาอยู่แทน และเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ ทางราชการได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านดอนเจดีย์เป็น บ้านเจดีย์ทอง
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชนัตถ์ปิยะอุย ในปัจจุบันก่อตั้งขึ้นเมื่อ ๙ มกราคม ๒๕๑๗ โดยได้รับเงินส่วนหนึ่งจากนางชนัตถ์ ปิยะอุย
ที่ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลแด่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านเจดีย์ทอง ซึ่งเป็นชาวไทยภูเขาเผ่าเย้าและม้งที่เห็นความสำคัญของการศึกษา
ต้องการให้บุตรหลานมีความรู้ ความสามารถ อ่านออกเขียนได้ จึงร่วมกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต ๕ อำเภอแม่จริม จังหวัดเชียงใหม่
จัดสร้างอาคารเรียนลักษณะถาวร ๑ หลัง ขนาด ๘.๖๐ x ๒๗.๒๐ เมตร ๓ ห้องเรียน บ้านพักครู ๑ หลัง พร้อมห้องน้ำ และให้ชื่อโรงเรียนนี้ว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชนัตถ์ปิยะอุย (ร.ร.ตชด.บำรุงที่ ๙๙)
นอกจากจะทำการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้วโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชนัตถ์ปิยะอุย ได้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ๗ โครงการ คือ
๑) โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
๒) โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน
๓) โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา
๔) โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ
๕) โครงการส่งเสริมสหกรณ์
๖) โครงการฝึกอาชีพ
๗) โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ปี ๒๕๓๘ กองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๒๖ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๒ ได้ก่อสร้างโรงครัว จำนวน ๑ หลัง ขนาด ๓.๕๐ x ๙ เมตร จำนวน ๑ หลัง
ปี ๒๕๓๙ วิทยาลัยเทคนิคสมุทรปราการ ได้บริจาคเงิน จำนวน ๔๐,๐๐๐ บาท (สี่หมื่นบาทถ้วน) ก่อสร้างโรงอาหาร จำนวน ๑ หลัง
เมื่อวันที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ และติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริทั้ง ๗ โครงการ และทรงปลูกต้นมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ จำนวน ๑ ต้น
ปี ๒๕๓๙ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชนัตถ์ปิยะอุย ได้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ เพิ่มเติมอีก ๑ โครงการคือ โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร รวมดำเนินการทั้งสิ้น ๘ โครงการ
ปี ๒๕๔๕ กรมประมงได้ขุดบ่อปลา จำนวน ๑ บ่อ
ปี ๒๕๔๕ สหกรณ์จังหวัดเชียงรายได้จัดสร้างอาคารสหกรณ์ จำนวน ๑ หลัง
เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๔๖ ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ได้สร้างอาคารเรียน ขนาด กว้าง ๖ เมตร ยาว ๓๓.๒ เมตร จำนวน ๔ ห้องเรียน ห้องพักครู ๑ ห้อง ห้องส้วม ๖ ห้อง
ปัจจุบันโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนชนัตถ์ปิยะอุย สังกัด กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๓๒ เปิดทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กก่อนวัยเรียน ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ มีนักเรียนชาย จำนวน ๗๖ คน นักเรียนหญิง จำนวน ๘๓ คน รวม ๑๕๙ คน
มีครูตำรวจตระเวนชายแดนทำการสอน จำนวน ๙ นาย โดยมีจ่าสิบตำรวจดอน สมควร เป็นครูใหญ่
โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด ๘ ไร่
|