บ้านดอยล้าน หมู่ที่ ๔ ตำบลวาวี อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย
เดิมราษฎรบ้านดอยล้านไม่มีโรงเรียนให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือ เนื่องจากอยู่ห่างไกลความเจริญ เส้นทางสัญจรไปมาลำบากเป็นภูเขาสูงและป่าทึบ การเดินทางจะต้องเดินเท้าจากตัวอำเภอจนถึงหมู่บ้าน
เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๐๓ หมวดตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๕๐๖ อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายเขต ๕ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่ดังกล่าว
ได้ร่วมกับราษฎรชาวเขาเผ่าลีซอ บ้านดอยล้านสร้างอาคารชั่วคราว จำนวน ๑ หลัง ตัวอาคารเป็นไม้ไผ่มุงด้วยหญ้าคาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน และได้เปิดทำการสอนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๐๓
โดยเปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีนักเรียนจำนวน ๔๕ คน ครูตำรวจตระเวนชายแดน ๒ นาย สิบตำรวจเอกแก้ว สุขยิ่ง เป็นครูใหญ่คนแรก โดยตั้งชื่อว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบำรุงที่ ๔๑
ปี ๒๕๐๕ ราษฎรบ้านดอยล้านร่วมกับ กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต ๕ ได้ย้ายที่ตั้งโรงเรียนจากทางทิศตะวันตกของหมู่บ้าน มาสร้างใหม่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านในที่ตั้งปัจจุบัน
โดยสร้างอาคารเรียนกึ่งถาวร กว้าง ๔ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ( หลังคามุงสังกะสี ) จำนวน ๑ หลัง
ปี ๒๕๑๗ คณะอาจารย์และนักศึกษา โครงการอาสาสีลม โรงเรียนพาณิชยการสีลม กรุงเทพฯ นำโดย อาจารย์นิคม ณ วิเชียร และอาจารย์ประสิทธิ์ อินบางยาง ได้บริจาคเงิน จำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เขต ๕ จำนวน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) รวม ๑๐๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งแสนห้าพันบาทถ้วน) ผ่านสำนักพระราชวัง เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน ๑ หลัง ๒ ห้องเรียน และบ้านพักครู จำนวน ๑ หลัง
เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๒๐ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดป้ายอาคารเรียน และพระราชทานชื่อใหม่ว่า โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านดอยล้าน
เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๓ ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ให้จัดตั้งเป็นโรงเรียนประถมศึกษาเอกเทศ
ปี ๒๕๓๔ คณะอาจารย์และนักศึกษาวิทยาลัยช่างกลปทุมวัน กรุงเทพฯ ได้สร้างอาคารเรียน จำนวน ๑ หลัง ขนาด ๘ ห้องเรียน และห้องน้ำ ๑ หลัง มูลค่า ๔๑๖,๓๗๘ บาท (สี่แสนหนึ่งหมื่นหกพันสามร้อยเจ็ดสิบแปดบาทถ้วน)
นอกจากทำการสอนตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านดอยล้าน ได้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ๗ โครงการคือ
๑) โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
๒) โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน
๓) โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา
๔) โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ
๕) โครงการส่งเสริมสหกรณ์
๖) โครงการฝึกอาชีพ
๗) โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๓๙ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมโรงเรียนแห่งนี้ และทอดพระเนตรงานโครงการพระราชดำริ และทรงปลูกต้นขนุนพันธุ์ ไพศาลทักษิณ จำนวน ๑ ต้น
ปี ๒๕๓๙ โรงเรียนได้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ เพิ่มเติมอีก ๑ โครงการ คือ โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร รวมดำเนินการทั้งสิ้น ๘ โครงการ
โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด ๑๙ ไร่ ๒ งาน
|