




|

ประวัติโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอ
หมู่ที่ ๔ บ้านนาปอ ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย
เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๓๗ นายสมบัติ ชิดทิด ประธานสภาตำบลแสงภา
อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ได้ทำหนังสือถึงนายอำเภอนาแห้ว
เรื่องให้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนที่บ้านนาปอ หมู่ที่
๔ เนื่องจากเด็กที่อยู่ในวัยเรียนไม่มีที่เรียนหนังสือ
แต่สำนักงานการประถมศึกษาอำเภอนาแห้ว ไม่เห็นชอบในการจัดตั้งโรงเรียน
เนื่องจากข้อมูลไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ต่อมากองบังคับการควบคุมศูนย์อำนวยการประสานงาน โครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่อำเภอนาแห้ว
และนายอำเภอนาแห้ว ได้ทำหนังสือถึงกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน
๒๔ เรื่องจัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอ เนื่องจากบุตรหลานได้รับความเดือดร้อน
ไม่มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน และต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่หมู่บ้านอื่นซึ่งอยู่ห่างไกล
มีความยากลำบากในการเดินทาง และเสี่ยงอันตราย ทางกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่
๒๔ จึงแจ้งไปยังกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนทราบ และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเมื่อวันที่
๓๑ มกราคม ๒๕๓๙
หลังจากได้รับอนุมัติให้จัดตั้งโรงเรียนแล้ว กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน
๒๔ จึงส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดนเข้าไปในพื้นที่
ร่วมกับผู้ปกครองนักเรียนในหมู่บ้านจัดสร้างอาคารเรียนชั่วคราวขึ้น
๑ หลัง ในพื้นที่ว่างเปล่าใกล้กับบริเวณหมู่บ้าน จำนวน
๑๘ ไร่
|
ความเป็นมาของหมู่บ้าน
จากการบอกเล่าของผู้ใหญ่บ้านนาปอ ว่า เมื่อประมาณ ๒๐
ปีที่ผ่านมา มีราษฎรจากบ้านนาลึ่ง บ้านป่าก่อ ตำบลแสงภา
อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย ขึ้นมาเลี้ยงสัตว์และเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์
มีลำน้ำไหลผ่าน เหมาะแก่การเพาะปลูก และดำรงชีวิต จึงชักชวนญาติพี่น้อง
จำนวน ๗ ครอบครัว อพยพเข้ามาอาศัย เพื่อทำการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
และในพื้นที่แห่งนี้ยังมีต้นไม้ที่เกิดเองตามธรรมชาติมากมายหลายชนิด
ตลอดทั้งได้มีต้นปอสาที่เกิดขึ้นเองในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก
จึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านนาปอ"
ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๑๒ - ๒๕๑๖ หมู่บ้านนาปอต้องกลายเป็นหมู่บ้านร้าง
ราษฎรที่อาศัยอยู่ต้องอพยพกลับบ้านเดิมของตน เพราะในขณะนั้นพื้นที่หมู่บ้านนาปอเป็นเส้นทางที่ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ใช้เป็นเส้นทางผ่าน
และเป็นพื้นที่สู้รบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่ตลอดเวลา
ซึ่งเหตุการณ์สงบลงเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ราษฎรชุดเดิมจึงอพยพกลับขึ้นไปใหม่จนถึงปัจจุบัน
ต่อมาทางราชการได้ประกาศจัดตั้งเป็นหมู่บ้านที่ถูกต้องตามกฎหมาย
เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๓๑
|
อาณาเขตติดต่อ
ทิศเหนือ ติดต่อกับ อุทยานเฉลิมพระเกียรติฯ ตำบลแสงภา
อำเภอนาแห้ว
ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านนครชุม ตำบลนครชุม อำเภอนครไทย
จังหวัดพิษณุโลก
ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านป่าก่อ ตำบลแสงภา อำเภอนาแห้ว
จังหวัดเลย
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ บ้านนาลึ่ง ตำบลเหล่ากอหก อำเภอนาแห้ว
จังหวัดเลย
|
การคมนาคม
มีถนนลาดยางเข้าถึงหมู่บ้านและโรงเรียนนาปอ ซึ่งอยู่ห่างจากอำเภอนาแห้ว ประมาณ ๒๑ กิโลเมตร
|
จำนวนประชากร
ปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ๓๒ ครอบครัว รวมประชากรทั้งหมด
๑๒๐ คน แยกเป็นชาย ๕๔ คน หญิง ๖๖ คน
|
การประกอบอาชีพ
ประชาชนในหมู่บ้านมีอาชีพหลักคือเกษตรกรรม เช่น ทำนา
ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ ค้าขาย เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่มีรายได้ต่อครอบครัวอยู่ในเกณฑ์ดี
|
การสาธารณสุข
ในหมู่บ้านนาปอ มีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เมื่อราษฎรเจ็บป่วยเล็กน้อยจะซื้อยามารับประทานเองและจะไปขอรับบริการจากสถานีอนามัยตำบลแสงภา
|
ผู้นำหมู่บ้าน
ผู้ใหญ่บ้าน ชื่อ นายนิล เหมบุรุษ
|
ระบบการศึกษา
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านนาปอ เป็นโรงเรียนที่ตั้งขึ้นในสังกัดกรมตำรวจ
พื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่
๒๔ จังหวัดอุดรธานี กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๙ โดยรับเด็กจากหมู่บ้านนาปอ
ดำเนินการสอนเป็น ๒ ภาคเรียน ดังนี้
ภาคเรียนที่ ๑ เปิด ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ถึง ๑๐
ตุลาคม ๒๕๔๐
ภาคเรียนที่ ๒ เปิด ๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ ถึง ๓๑
มีนาคม ๒๕๔๑
|
อาคารสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวก
ปัจจุบันโรงเรียนได้รับงบประมาณการก่อสร้างอาคารเรียน
และห้องน้ำ - ห้องส้วม จากมูลนิธิเฟรดมัลเดอร์
แห่งเนเธอร์แลนด์ เป็นเงินจำนวน ๙๔๑,๙๓๓ บาท (เก้าแสนสี่หมื่นหนึ่งพันเก้าร้อยสามสิบสามบาทถ้วน)
และได้บริจาคเพิ่มเติมอีก จำนวน ๑๖๓,๗๐๒.๓๑ บาท (หนึ่งแสนหกหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสองบาทสามสิบเอ็ดสตางค์)
เพื่อจัดซื้อถังเก็บน้ำ อุปกรณ์ประจำโรงเรียน เช่น โต๊ะ-เก้าอี้
สำหรับครู-นักเรียน อุปกรณ์การกีฬา อุปกรณ์การเกษตร รวมเป็นเงินที่บริจาคให้กับโรงเรียนทั้งสิ้น
๑,๑๐๕,๖๙๕.๓๑ บาท (หนึ่งล้านหนึ่งแสนห้าพันหกร้อยเก้าสิบห้าบาทสามสิบเอ็ดสตางค์)
อาคารได้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีอาคารและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ดังนี้
|
อาคารสถานที่
| ผู้ให้การสนับสนุน |
อาคารเรียน
| สถานเอกอัครราชฑูตเนเธอร์แลนด์ประจำประเทศไทย (มูลนิธิเฟรดมัลเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์) |
ห้องสมุด
| สถาบันราชภัฏเลย และกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๒๔ |
ห้องพยาบาล
| สำนักงานโครงการพัฒนาพื้นที่อำเภอ นาแห้ว จังหวัดเลย |
โรงอาหาร
| ชมรมยาเสพติดให้โทษ มหาวิทยา ลัยรามคำแหง และกองร้อย ตชด.๒๔๗ |
ห้องน้ำ - ห้องสุขา
| มูลนิธิเฟรดมัลเดอร์แห่งเนเธอร์แลนด์ |
จำนวนครูและนักเรียน
เมื่อเริ่มก่อตั้ง มีนักเรียน ๓๗ คน มีครูตำรวจตระเวนชายแดน ๖ นาย
ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น ๓๓ คน เป็นชาย ๒๐ คน หญิง ๑๓ คน มีครูตำรวจตระเวนชายแดน ๗ นาย
|
ตารางแสดงจำนวนครูและคุณวุฒิ
ชื่อ
| คุณวุฒิ
| หน้าที่ |
๑. จ.ส.ต.ศุภชัย พรหมเอี่ยม
| ม.ศ.๕
| ครูใหญ่/โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ |
๒. ด.ต.สุรัตน์ ชายคำ
| ม.ศ.๓
| โครงการฝึกอาชีพ |
๓. จ.ส.ต.ทรงเกียรติ สุพรหมอินทร์
| ปกศ.
| โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา |
๔. จ.ส.ต.บรรหาร คำคูบอน
| ม.ศ.๕
| โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน/โครงการ ส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก |
๕. ส.ต.อ.สุพจน์ ทองจำรูญ
| ม.ศ.๕
| โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ |
๖. ส.ต.อ.นิยม วิเศษภักดี
| ม.๖
| โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน |
๗. ส.ต.ท.สุรชัย พัดสร้อย
| ม.๖
| โครงการส่งเสริมสหกรณ์ |
ตารางแสดงจำนวนนักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๔๐
ชั้น
| ชาย
| หญิง
| รวม |
เด็กเล็กก่อนวัยเรียน
| ๕
| ๓
| ๘ |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑
| ๑
| -
| ๑ |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๒
| ๑
| ๔
| ๕ |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓
| ๔
| ๑
| ๕ |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔
| ๑
| ๒
| ๓ |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕
| ๔
| ๒
| ๖ |
ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖
| ๔
| ๑
| ๕ |
รวม
| ๒๐
| ๑๓
| ๓๓ |
โครงการตามพระราชดำริที่โรงเรียนดำเนินการอยู่
เพื่อเป็นการพัฒนาเด็กและเยาวชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริขึ้น ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตามแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร (๒๕๔๐ - ๒๕๔๔) ดังต่อไปนี้
|
โครงการส่งเสริมสหกรณ์
ครูผู้รับผิดชอบ คือ ส.ต.ท.สุรชัย พัดสร้อย
หน่วยงานที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ สหกรณ์อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย
|
ผลการดำเนินงาน
จัดตั้งกิจกรรมร้านสหกรณ์ขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิกายน
๒๕๓๙ ได้รับการช่วยเหลือจาก มูลนิธิ
ดร.สุมิตร เลิศสุมิตรกุล จำนวน ๑๐,๐๐๐ บาท ซึ่งทางโรงเรียนได้นำเงินจำนวนดังกล่าวมาเป็นเงินทุนหมุนเวียนและทุนดำเนินการ
ยังไม่ได้รับสมาชิก และจะดำเนินการในปีการศึกษา ๒๕๔๐
|
|